แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆคือ
1.1 การทำตาบน (Upper blepharoplasty ) ซึ่งก็มี 2 วิธีหลักที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ การเย็บแบบ 3 จุด หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘การทำตาแบบเกาหลี’ กับการกรีดแล้วเย็บ หรือที่เรียกกันว่า ‘การทำตาแบบเดิม’ ทั้ง 2 วิธีนี้ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบใช้วิธีการกรีดแล้วเย็บมากกว่า เนื่องจากการเย็บแบบ 3 จุดนั้น จากประสบการณ์พบว่า โดยทั่วไปไม่เกิน 6 เดือน ตา 2 ชั้นก็มักจะคลายตัวออกจากไหมเย็บ สุดท้ายก็จะเหลือเป็นตา 2 ชั้นที่ไม่เท่ากัน หรือหากโชคร้ายก็จะเป็นเหมือนเดิมก่อนการทำตา 2 ชั้น นอกจากนั้น สำหรับคนที่มีไขมันบริเวณเปลือกตาบนมากๆก็ไม่เหมาะจะใช้วิธีนี้ เนื่องจากไม่สามารถเอาไขมันออกได้มาก หรือเลือกตำแหน่งที่มีไขมันสะสมมากกว่าปกติออกลำบาก ส่วนข้อดีของวิธีนี้ก็มีแค่ ทำได้เร็ว แผลไม่ยาว และหลังผ่าตัดไม่มีอาการบวมมาก หรือสามารถไปทำงานได้เลยหลังผ่าตัด
ส่วนวิธีการกรีดแล้วเย็บนั้น ข้อดีและข้อเสียจะตรงกันข้ามกับการเย็บแบบ 3 จุด นอกจากนี้การกรีดแล้วเย็บ ยังใช้แก้ไขผู้ป่วยที่มีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อในการเปิดเปลือกตาอ่อนแรง ไม่ว่าจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด จากอุบัติเหตุ หรือเป็นเนื่องจากความชรา ซึ่งการทำตา 2 ชั้นหรือการเก็บหนังตา หากพิจารณาดีๆแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เปิดเปลือกตาไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง การผ่าตัดจึงจำเป็นต้องพิจารณาในจุดนี้ด้วย เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด ข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับการกรีดแล้วเย็บ คือ ชั้นของตา 2 ชั้นจะคมกว่าการเย็บแบบ 3 จุด ผมยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คุณลองเอาผ้ามาพับแล้วสังเกตตรงรอยพับผ้า เปรียบเทียบความคมชัดตรงตำแหน่งรอยพับผ้า กับการที่คุณทำแบบเดิมคือพับผ้า แต่ตัดตรงตำแหน่งรอยพับออกตามแนวยาว แล้วเย็บกลับเข้าหากันใหม่ตรงตำแหน่งที่ตัด หรือ ตำแหน่งรอยพับเดิม แน่นอนความคมชัดตรงรอยพับของผ้าที่ตัดแล้วมาเย็บใหม่ย่อมคมชัดกว่า ซึ่งเปรียบเหมือนการทำตาบนแบบกรีดแล้วเย็บ ย่อมคมชัดกว่าการเอาผ้ามาพับอย่างเดียว ซึ่งเหมือนการเย็บแบบ 3 จุดนั่นเอง
1.2 การทำตาล่าง (Lower blepharoplasty) ก็เช่นเดียวกับการทำตาบน คือ มี 2 วิธีหลักที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ ‘การลงแผลบริเวณเยื่อบุตาล่าง’ กับ ‘การลงแผลบริเวณผิวหนังใต้ขนตาล่าง’ ทั้ง 2 วิธีนี้มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
โดยการลงแผลบริเวณเยื่อบุตาล่างนั้น ข้อดีคือ ทำได้เร็ว ไม่เห็นรอยแผลผ่าตัด และโอกาสการเกิดเปลือกตาล่างปลิ้นออก หรือเรียกกันง่ายๆว่าตาแหกน้อยกว่า แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถผ่าตัดเอาผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างที่หย่อนออกได้ หรือหากต้องการเอาออกก็ต้องลงแผลผ่าตัดบริเวณเปลือกตาล่างใหม่อีกแผล ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ในเรื่องของรอยแผล และโอกาสการเกิดเปลือกตาล่างปลิ้นออกก็ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้การลงแผลบริเวณเยื่อบุตาล่างยังต้องใช้เครื่องมือพิเศษป้องกันดวงตา หรือลูกตาขณะผ่าตัด เนื่องจากมีโอกาสพลาดไปทำอันตรายต่อลูกตาขณะผ่าตัดได้ รวมถึงการใช้วิธีนี้นั้น การห้ามเลือดขณะผ่าตัดจะลำบากกว่าอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งผลเสียจากการห้ามเลือดไม่ดีไม่เพียงแต่รอยฟกช้ำเท่านั้น อาจมากถึงขั้นตาบอดได้เลย
ส่วนวิธีที่สอง คือ การลงแผลบริเวณผิวหนังใต้ขนตาล่าง เป็นวิธีที่ผมนิยมใช้มากกว่า แม้จะมีข้อเสียตรงใช้เวลามากกว่า มีรอยแผลเป็นใต้ขนตาล่าง และมีโอกาสการเกิดเปลือกตาล่างปลิ้นออกมากกว่าก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทักษะ และความประณีตของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด หากเย็บให้ดี เย็บให้ละเอียด แผลเป็นที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านไปประมาณ 3-6 เดือน ก็แทบมองไม่เห็นแล้ว ส่วนการเกิดเปลือกตาล่างปลิ้นนั้น หากไม่ตัดผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างมากเกินไปร่วมกับการเย็บดึงผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างให้พอดี ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษป้องกันลูกตา เนื่องจากโอกาสการเกิดอันตรายต่อลูกตาน้อยกว่า สามารถห้ามเลือดได้ดีกว่า และสุดท้ายสามารถตัดผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างที่หย่อนออกไปได้
สำหรับการตัดเอาผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างออกนั้น ในความเห็นส่วนตัวสำหรับการทำตาล่าง ผมถือว่าจำเป็นต้องทำหรือแม้แต่ผู้ป่วยรายนั้นจะไม่ได้ตัดผิวหนังดังกล่าวออกเลย แต่หากสามารถเปลี่ยนแนวการดึงตึงของผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างที่หย่อนให้ตึงในแนวที่ถูกต้องนั้น ถือเป็นหัวใจหลักของการทำตาล่างให้สวยงามเลย ซึ่งวิธีแรกนั้นไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ สงสัยมั้ยครับว่าทำไมสิ่งนี้ถึงถือเป็นหัวใจหลัก ลองคิดดูนะครับ หากคุณมีหมอนที่ยัดนุ่นไว้เต็ม แต่ถ้าคุณเอานุ่นออกครึ่งหนึ่ง ผิวของปลอกหมอนใบนั้นย่อมไม่ตึงดังเดิม ปลอกหมอนก็เหมือนผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างนั่นเอง คุณจะทำอย่างไรให้ปลอกหมอนตึงเหมือนเดิม วิธีเดียวคือดึงผิวปลอกหมอนให้ตึงขึ้น พร้อมกับตัดปลายปลอกหมอนที่เกินออก แล้วเย็บตรงส่วนปลายทางเข้าของหมอนเข้าหากัน เปรียบเสมือนการตัดผิวหนังใต้เปลือกตาล่างออก แล้วเปลี่ยนแนวแรงดึงของผิวหนัง หรืออาจใช้วิธีเย็บทางเข้าของหมอนเข้าหากันให้ตึงอย่างเดียวก็พอ ถ้าหากเอานุ่นออกไม่มาก เหมือนกับการเปลี่ยนแนวแรงดึงของผิวหนังใต้ขนตาล่างให้เหมาะสมเท่านั้นเอง
หากสังเกตให้ดี ผู้ป่วยที่มาทำตาล่างส่วนใหญ่แล้วเป็นคนสูงอายุหรือวัยกลางคนไปแล้ว เมื่อเอาไขมันบริเวณถุงใต้ตาล่างออก ผิวหนังบริเวณนั้นย่อมหย่อนลง การคืนตัวของผิวหนังที่หดตัวเข้ามาเองเหมือนผิวหนังของเด็ก กลายเป็นผิวที่มีแรงตึงเหมือนก่อนผ่าตัด จึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการใช้วิธีลงแผลบริเวณเยื่อบุตาล่างโดยไม่ตัดผิวหนังเลย จึงเหมาะสมกับคนที่มีถุงไขมันไม่มาก อายุน้อย ผิวหนังไม่หย่อนหรือมีแรงคืนตัวที่ผิวหนังดี แล้วผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมาผ่าตัดทำตาล่างทำไม ในเมื่อถุงไขมันใต้ตาล่างยังมีไม่มาก และผิวหนังใต้ตาล่างยังไม่หย่อน ดังนั้นผมจึงเลือกวิธีการผ่าตัดโดยลงแผลบริเวณผิวหนังใต้ขนตาล่างเป็นหลักนั่นเอง
ส่วนวิธีการดูแลแผลหลังผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการทำตาบนหรือทำตาล่างนั้น สำหรับที่ผมใช้ดูแลผู้ป่วยนั้นไม่แตกต่างกันคือ แค่ทำความสะอาดแผล และป้ายยาขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับป้ายตา วันละ 4 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว ร่วมกับอย่าไปอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นควันมากๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้มีโอกาสการติดเชื้อที่แผลมากขึ้นแล้วการขยี้ตาจากฝุ่นควัน อาจทำให้แผลแยกได้และควรระวังการนอนคว่ำในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด เนื่องจากมีโอกาสทำให้แผลแยกเช่นเดียวกันได้ จากการเสียดสีกับปลอกหมอนนั่นเอง ส่วนการประคบน้ำอุ่นหรือน้ำแข็งบริเวณแผลหลังผ่าตัดนั้นหากเย็บผ่าตัดได้ดี ห้ามเลือดได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำเลย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยให้ผู้ป่วยประคบหลังผ่าตัดเลยและโดยทั่วไปผมจะนัดผู้ป่วยมาตัดไหมหลังผ่าตัด 5 วัน แต่ไม่ควรทิ้งไหมไว้นานเกิน 7 วัน ถ้าไม่จำเป็น เพราะมีโอกาสที่แผลเป็นจะไม่สวย นอกจากนั้นควรหลบแดดอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด จะช่วยลดโอกาสการทำให้รอยแผลเป็นเห็นเป็นสีคล้ำขึ้น โดยทั่วไปแล้วการทำตาบนและตาล่างนั้น ตาจะเข้ารูป 100 เปอร์เซ็นต์ หลัง 6 เดือนไปแล้ว ดังนั้นการประเมินว่าจำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนหรือไม่จึงต้องประเมินในส่วนนี้ร่วมด้วยครับ
สุดท้ายนี้สำหรับบุคคลใดที่ต้องการผ่าตัดทำตานั้น ผมขอให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการทำ ผลดี ผลเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงฝีมือของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้ดีเสียก่อน เนื่องจากการผ่าตัดแก้ไขบางครั้งทำได้ยาก ผลจากการแก้ไขย่อมไม่เท่ากับการที่ผ่าตัดที่ดีแต่แรก และแน่นอนย่อมยากกว่าการผ่าตัดแก้ไขจมูกที่เสริมด้วยแท่งซิลิโคนมาแล้วไม่ดี อย่างมากครับ
คุณสามารถล็อกอิน โดยใช้ชื่อ/รหัสผ่าน ได้หลังจาก active ผ่านอีเมล์ที่ส่งกลับไปนะคะ
สามารถดูรีวิว + อ่านบทความได้แม้ไม่ได้เป็นสมาชิก (แต่หาก log-in) จึงจะสามารถตั้งคำถาม - แสดงความเห็นในกระทู้ได้
หมายเหตุ ** ปกติจะมีอีเมล์แจ้งรายละเอียดการสมัคร ส่งกลับไปหาคุณภายใน 5 นาทีค่ะ
ถ้าหากล็อกอินไม่ได้ สามารถแจ้งชื่อ Username ที่คุณใช้สมัคร มาสอบถามที่ millionews@live.com หรือโทรสอบถามที่ 02-434-6876 , 086-350-9030 ค่ะ
การทำตา (Blepharoplasty)
Forum rules
ห้ามเผยแพร่ หรือคัดสำเนาของบทความใดใดที่ลงไว้โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความเห็นส่วนตัว และป้องกันการเกิดความขัดแย้งในด้านความคิดเห็นในอนาคต หากผู้ใดละเมิดต้องรับผิดตามกฎหมาย
Please don't publish these article elsewhere without permission. because is a personal opinion. Any violation is liable under the law.
ห้ามเผยแพร่ หรือคัดสำเนาของบทความใดใดที่ลงไว้โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความเห็นส่วนตัว และป้องกันการเกิดความขัดแย้งในด้านความคิดเห็นในอนาคต หากผู้ใดละเมิดต้องรับผิดตามกฎหมาย
Please don't publish these article elsewhere without permission. because is a personal opinion. Any violation is liable under the law.
Who is online
Users browsing this forum: No registered users and 4 guests