คุณสามารถล็อกอิน โดยใช้ชื่อ/รหัสผ่าน ได้หลังจาก active ผ่านอีเมล์ที่ส่งกลับไปนะคะ
สามารถดูรีวิว + อ่านบทความได้แม้ไม่ได้เป็นสมาชิก (แต่หาก log-in) จึงจะสามารถตั้งคำถาม - แสดงความเห็นในกระทู้ได้

หมายเหตุ ** ปกติจะมีอีเมล์แจ้งรายละเอียดการสมัคร ส่งกลับไปหาคุณภายใน 5 นาทีค่ะ
ถ้าหากล็อกอินไม่ได้ สามารถแจ้งชื่อ Username ที่คุณใช้สมัคร มาสอบถามที่ millionews@live.com หรือโทรสอบถามที่ 02-434-6876 , 086-350-9030 ค่ะ

การเสริมหน้าอก ( Breast augmentation)

เป็นความเห็นส่วนบุคคล ห้ามนำบทความไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น หรือ นำไปเผยแพร่ที่อื่นโดยไม่ได้รับอนูญาต หากทราบทางคลีนิกจะดำเนินตามกฏหมายทันที

An article in this club is personal opinion, Please do not compared with others or publish elsewhere without permission.
Forum rules
ห้ามเผยแพร่ หรือคัดสำเนาของบทความใดใดที่ลงไว้โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความเห็นส่วนตัว และป้องกันการเกิดความขัดแย้งในด้านความคิดเห็นในอนาคต หากผู้ใดละเมิดต้องรับผิดตามกฎหมาย

Please don't publish these article elsewhere without permission. because is a personal opinion. Any violation is liable under the law.
admin
ผู้ดูแลเว็บ
ผู้ดูแลเว็บ
Posts: 612
Joined: Fri Apr 08, 2011 5:29 pm

การเสริมหน้าอก ( Breast augmentation)

Postby admin » Thu Aug 25, 2011 9:48 am

หน้าอกที่สวยเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนปรารถนา และรวมถึงบุคคลที่เป็นสาวประเภทสองด้วย บทความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผมขอไม่กล่าวถึงรายละเอียด ขั้นตอน และวิธีการผ่าตัดมากนัก แต่ต้องการจะตอบปัญหา หรือคำถามสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมหน้าอกที่มีข้อสงสัยจำนวนมาก มากกว่าครับ

ก่อนอื่นเรามารู้จักถุงซิลิโคนที่ใช้เสริมหน้าอกกันในปัจจุบัน โดยถ้าแบ่งตามรูปทรงสามารถ
แบ่งได้ เป็น 2 แบบ คือ

1. ฐานรูปทรงกลม และส่วนนูนเป็นนรูปครึ่งวงกลม
( Round base)
2. ฐานรูปทรงกลม และส่วนนูนเป็นรูปไข่หรือหยดน้ำ ( Oval base)


ทั้งสองแบบแตกต่างกันที่ส่วนนูน เวลานำถุงซิลิโคนมาใส่ให้กับผู้ป่วยโดยที่ผู้ป่วยอยู่ในท่ายืน ส่วนนูนเป็นรูปไข่หรือหยดน้ำ เมื่อนำมาเสริมแล้วโดยทั่วไปจะทำให้รูปทรงหน้าอกใกล้เคียงกับธรรมชาติของหน้าอกผู้หญิงมากกว่า แบบส่วนนูนเป็นรูปครึ่งวงกลม แต่ข้อเสีย คือ คงไม่เหมาะถ้าจะนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีเนื้อหน้าอกในส่วนครึ่งบนน้อยอยู่แล้ว เพราะจะยิ่งทำให้หน้าอกส่วนบนยิ่งมีน้อยลงไปอีก หรือดูคล้ายหน้าอกหย่อนคล้อย นอกจากนี้ยังมีราคาสูงกว่าแบบส่วนนูนเป็นรูปครึ่งวงกลมมาก ดังนั้นการเลือกใช้รูปทรงของซิลิโคนให้เหมาะกับรูปทรงของหน้าอกจึงเป็นส่วนสำคัญในการเลือกชนิดของซิลิโคนมากที่สุด ไม่ใช่ว่าของยิ่งแพงจะยิ่งดีนะครับ

ทั้งสองรูปทรงของซิลิโคนดังกล่าว ยังมีลักษณะของผิวซิลิโคนให้เลือกอีก 2 ชนิด คือ "ผิวเรียบ" ( Smooth surface) และ "ผิวทรายหรือผิวขรุขระ" ( Textured surface ) แต่เดิมมีความเชื่อว่า ผิวทรายจะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสเกิดเนื้อเยื่อผังผืดหดรัดซิลิโคน ( Capsular contracture ) ทำให้เห็นเนื้อหน้าอกเป็นรูปถุงซิลิโคน หรือถุงน้ำเกลือชัดเจนขึ้น รวมทั้งโดยมากมักจะหดรัดให้มีการเคลื่อนที่ขึ้นบนไปทางรักแร้ ทำให้รูปทรงหน้าอกผิดรูปได้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีผลงานวิจัยว่า ไม่มีความแตกต่างของลักษณะผิวซิลิโคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่โดยส่วนตัวแล้วผมก็นิยมใช้แบบผิวทรายมากกว่า อาจเพราะเนื่องจากความเคยชินในการใช้มานาน

นอกจากถุงซิลิโคนที่นำมาใช้ในการเสริมหน้าอกแล้ว ยังมีการใช้ถุงน้ำเกลือในการเสริมหน้าอกด้วย อันที่จริงแล้วคำว่าถุงน้ำเกลือนั้นจริงๆแล้วก็คือ ถุงที่มีผิวนอกเป็นซิลิโคนแต่เติมน้ำเกลือเข้าไปเพื่อให้ได้เป็นรูปทรงเหมือนถุงซิลิโคนที่กล่าวมาแล้ว ความนิยมในปัจจุบันในการเสริมหน้าอกยังใช้ถุงซิลิโคนมากกว่า ส่วนถุงน้ำเกลือมีข้อดีที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ เมื่อถุงรั่ว น้ำเกลือจะถูกดูดซึมไป ไม่เป็นอันตราย แต่ข้อเสียคือ แม้การใส่ถุงน้ำเกลือขณะผ่าตัดจะง่ายแต่การจัดวางไม่ให้หักพับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการรั่วนั้นยากกว่าถุงซิลิโคนมาก รวมทั้งเมื่อมีการรั่วแล้ว หน้าอกข้างนั้นจะมีขนาดแตกต่างกับอีกข้างอย่างชัดเจน แต่หากเป็นถุงซิลิโคน เมื่อถุงรั่ว ซิลิโคนเหลวจะกระจายไปทั่ว ยากต่อการเอาออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ ซิลิโคนเหลวที่บรรจุในถุงซิลิโคนมีความหนืดมากขึ้นจึงกระจายอยู่เฉพาะรอบๆเนื้อเยื่อผังผืดที่หุ้มรอบถุงซิลิโคน ซึ่งในบางครั้งดูแทบไม่ออกถึงความแตกต่างของหน้าอกที่มีถุงซิลิโคนว่ารั่วหรือไม่รั่วเลย นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการพัฒนาผิวถุงซิลิโคนให้มีหลายชั้นเหมือนใส่ถุงหลายใบนั่นเอง ทำให้โอกาสการรั่วซึมของซิลิโคนเหลวลดน้อยลงอย่างมาก จากประสบการณ์ของผมแล้วสำหรับความยืดหยุ่น หรือ ความนุ่มของหน้าอกที่เสริมด้วยถุงซิลิโคนกับถุงน้ำเกลือ เมื่อให้ผู้ป่วยเปรียบเทียบความรู้สึกโดยตัวผู้ป่วยเองแล้ว ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเสริมด้วยถุงซิลิโคนนั้นใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่า ด้วยเหตุผลหลายข้อที่กล่าวมา จึงทำให้ในปัจจุบันผมนิยมใช้ถุงซิลิโคนมากกว่าถุงน้ำเกลือ

ส่วนการลงแผลผ่าตัดเพื่อเสริมหน้าอกนั้นที่นิยมกันมี 3 ตำแหน่ง ดังนี้

1. ใต้รักแร้ ในบ้านเราผู้ป่วยนิยมให้ลงตำแหน่งนี้มากที่สุด ข้อดีอาจเป็นเพราะแผลเป็นซ่อนอยู่บริเวณรักแร้ ยากต่อการมองเห็น แต่ผมกลับคิดว่าเป็นจุดที่เห็นได้ง่ายสุด หากใส่เสื้อแขนกุด
ส่วนข้อดี อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นตำแหน่งลงแผลผ่าตัดที่ผ่านเนื้อเต้านมไม่มาก ส่วนข้อเสีย คือ การนำถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือเข้าจะทำยากกว่าวิธีอื่น โดยเฉพาะถ้ามีขนาดใหญ่มากๆ นอกจากนี้การห้ามเลือดรวมถึงการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมก็ยากกว่าวิธีอื่นเช่นเดียวกัน

2. บริเวณลานหัวนม วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีลานหัวนมกว้าง พอที่จะลงแผลเพื่อใส่ถุงซิลิโคน หรือถุงน้ำเกลือลงไป ดังนั้นผู้ป่วยที่มีลานหัวนมแคบจึงไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้วิธีนี้ยังต้องลงผ่านเนื้อเต้านมแม้จะไม่มีผลต่อการให้นมลูก แต่อาจมีผลต่อโครงสร้างเต้านมได้อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อดี ตรงที่ง่ายต่อการจัดวางตำแหน่งของถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือมากที่สุด การห้ามเลือดทำได้ง่ายที่สุด รวมทั้งยังสามารถแก้ไขโครงสร้างของเต้านมที่หย่อนคล้อยไม่มาก ร่วมกับการเสริมหน้าอกไปในคราวเดียวกัน

3.ใต้ราวนม เป็นตำแหน่งที่ผู้ป่วยทางอเมริกา หรือ ยุโรป นิยมมากที่สุดเพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัด ในด้านของขนาดทางเข้าของถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ เหมือนลงแผลบริเวณลานหัวนม รวมทั้งวิธีนี้ลงผ่านเนื้อเต้านมน้อยมาก ส่วนการห้ามเลือดอยู่ระหว่าง 2 วิธีแรกแต่ ข้อเสียที่ชัดเจน คือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมในส่วนครึ่งล่างน้อย หรือเนื้อเต้านมในส่วนครึ่งล่างไม่มาปิดตรงราวนมซึ่งจะทำให้เห็นแผลเป็นได้ชัดมาก จึงทำให้วิธีการลงแผลแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในบ้านเรา เหมือนทางอเมริกาหรือยุโรป ซึ่งค่อนข้างมีเนื้อหน้าอกส่วนครึ่งล่างคล้อยมาปิดราวหัวนม รวมทั้งผู้ป่วยอเมริกาหรือยุโรปมีผิวหนังที่มีโอกาสเป็นรอยแผลเป็นนูนได้น้อยกว่าบ้านเรา


นอกจากนั้น การวางถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ หากกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ จะมี 2 ตำแหน่ง คือ

1. ชั้นใต้ผิวหนัง (Glandular mammoplasty)
ซึ่งข้อดี ทำง่ายใช้เวลาผ่าตัดน้อยความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยและระยะเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดก็น้อยกว่า รวมทั้งการทำให้เนื้อหน้าอกมาชิดกันตรงกลางก็ทำได้ง่ายกว่าการวางไว้อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากนั้นในขณะผ่าตัดก็ใช้เพียงการกินและฉีดยานอนหลับร่วมกับการใช้ยาชาเฉพาะที่ ทำให้ง่ายต่อการผ่าตัด และอาจไม่ต้องใช้วิสัญญีแพทย์ ดมยาสลบเหมือนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการผ่าตัดลงได้มาก วิธีนี้มักจะเห็นบางแห่งนำมาใช้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด ต่ำกว่าที่อื่นๆ เป็นแรงจูงใจให้ผู้ป่วยมาใช้บริการ แต่ข้อเสีย คือ อันตรายหากเกิดผลแทรกซ้อนที่ไม่คาดหวัง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากไม่มีวิสัญญีแพทย์คอยดูแล หรือช่วยผู้ป่วยขณะผ่าตัด นอกจากนี้ ที่สำคัญคือโอกาสการเกิดเนื้อเยื่อผังผืด หดรัดถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ ( Capsular Contracture) ก็มากกว่าอีกวิธีหนึ่งอย่างชัดเจน ดังจะได้กล่าวไว้ในช่วงหลังต่อไป


อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังมีผู้ใช้อยู่มากนอกเหนือจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงหรือสาวประเภทสองที่ต้องการให้เนื้อหน้าอกมาชิดกันตรงกลางมากที่สุดเพื่อจะทำให้ใส่เสื้อผ้าแล้วดูสวย โดยไม่สนใจว่าเวลาถอดเสื้อผ้าออกอาจจะเห็นลักษณะหน้าอกผิดรูปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากการเกิดเนื้อเยีอผังผืดหดรัด ( Capsular Contracture) โดยเฉพาะหากเกิดในสาวประเภทสองก็จะเห็นได้ชัดกว่าผู้หญิงทั่วไป

2. ชั้นใต้กล้ามเนื้อ ( Subpectoral mammoplasty)
วิธีนี้มีข้อดีและข้อเสียตรงกันข้ามกับวิธีแรก คือ ทำยากกว่าใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าความเจ็บปวดและเวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดมากกว่า รวมถึงต้องใช้วิสัญญีแพทย์ ในการดมยาสลบขณะที่ทำการผ่าตัด แต่ข้อดีคือ ความปลอดภัยขณะผ่าตัดมีมากกว่า รวมถึงโอกาสเกิดเนื้อเยื่อผังผืดหดรัดถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ( Capsular contracture) น้อยกว่าและการได้รูปทรงของหน้าอกใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่า คือ ไม่มาชิดกันตรงกลางมากเกินไปรวมถึงเวลานอนลงหน้าอกก็ยังคล้อยไปทางด้านข้างลำตัวมากกว่าวิธีแรกอย่างชัดเจน โดยส่วนตัวแล้วผมมักจะใช้วิธีนี้เป็นวิธีหลักเสมอ แม้จะเสริมหน้าอกให้กับสาวประเภทสองก็ตาม ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มหลังนี้มักต้องการให้ตัวเองมีหน้าอกชิดๆ โดยไม่สนใจผลแทรกซ้อนระยะหลัง แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าใจในจุดนี้เสมอ และที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า “ คุณไม่มีทางมีหน้าอกสวยเหมือนผู้หญิงได้ เพราะคุณขาดเนื้อเต้านมบริเวณหน้าอกที่เหมือนผู้หญิงทั่วๆไป ดังนั้นการเสริมหน้าอกจึงเป็นเพียงการทำให้คุณมีรูปร่างที่คล้ายผู้หญิงมากขึ้นเท่านั้น” และแน่นอนย่อมดีกว่าที่จะเห็นเป็นก้อนกลมๆ สองก้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งมีโอกาสเกิดเนื้อเยีอผังผืดหดรัด ( Capsular contracture ) ได้มากขึ้นหากใช้วิธีการเสริมใต้ผิวหนัง

ส่วนการดูแลแผลหลังผ่าตัด ง่ายๆ มีดังนี้

เพียงทำความสะอาดแผลวันละ 4 เวลา เช้า, กลางวัน, เย็น และก่อนนอน โดยการใช้ขี้ผึ้งปฎิชีวนะ ทาที่แผลร่วมด้วย และระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ โดยทั่วไปจะตัดไหม 7-10 วันหลังผ่าตัด

สำหรับผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นบ่อยและทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจมากที่สุดในระยะแรก (acute phase) คือ หน้าอก สองข้างขนาดไม่เท่ากัน หรือรูปทรงไม่เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุมี 2 แบบ คือ

1. เกิดจากฝีมือแพทย์ที่ทำการผ่าตัด โดยวางถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือในตำแหน่งที่ไม่เท่ากันทั้งสองข้าง หรือ เกิดการรั่วซึมของถุงน้ำเกลือข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น

2. เกิดจากลักษณะทางกายภาพของหน้าอกผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่เกินร้อยละ 90 ของหน้าอกผู้หญิง มักมีขนาดหรือรูปทรงไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่มักเกิดปัญหากับหน้าอกผู้หญิงที่มีขนาดหรือรูปทรงที่แตกต่างกันก่อนผ่าต้ดอย่างชัดเจน ดังนั้น ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจก่อนผ่าตัดเสมอ ว่าหลังผ่าตัดมีโอกาสที่เนื้อหน้าอกหรือรูปทรงทั้ง 2 ข้างจะไม่เท่ากัน แม้ว่าจะเสริมข้างที่มีเนื้อหน้าอกน้อยกว่า ด้วยถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือที่ใหญ่กว่าอีกข้างก็ตาม

ส่วนผลแทรกซ้อนในระยะหลัง ( Chronic phase) ที่พบบ่อย
คือ การหดรัดของเนื้อเยื่อผังผืดรอบถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ ( Capsular contracture) ซึ่งสาเหตุแบ่งได้ 2 แบบ เช่นเดียวกัน

1. เกิดจากฝีมือแพทย์ที่ทำการผ่าตัด ได้แก่
(1.1) เสริมหน้าอกด้วยถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ ที่มีปริมาตรและขนาดใหญ่เกินกว่าที่ทรวงอกจะรับไหว ในความเห็นผมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด ซึ่งต้องอธิบายให้กับผู้ป่วยทราบเสมอ เนื่องจากผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือสาวประเภทสอง ก็ติดภาพว่าหน้าอกที่เสริมมาจะต้องมีขนาดใหญ่เหมือนภาพวาดการ์ตูนของหน้าอกผู้หญิง จึงจะสวย แต่แท้จริงแล้วรูปทรงที่เสริมแล้วดูเหมาะสมกับรูปร่างและทรวงอกของผู้ป่วยจึงจะดีที่สุด และทำให้มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนข้อนี้น้อยที่สุดเช่นกัน

(1.2) เสริมหน้าอกโดยวางถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือไว้ใต้ผิวหนัง แทนที่จะวางไว้ใต้กล้ามเนื้อ ถือเป็นปัจจัยรองที่ทำให้เกิด ผลแทรกซ้อนดังกล่าว ไม่ใช่ว่าเมื่อวางไว้ใต้กล้ามเนื้อแล้วจะไม่มีโอกาสเป็น เพียงแต่โอกาสเป็นน้อยกว่าและความรุนแรงก็น้อยกว่า คือ หากเสริมใต้ผิวหนัง โอกาสที่เนื้อเยื่อผังผืดจะหดรัดถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือให้เห็นเป็นก้อนกลมๆ ( Capsular contracture) สูงกว่า หรือนึกภาพง่ายๆ เหมือนเราใส่ลูกส้มโอขนาดกลางไว้บนหน้าอก นอกจากนี้ลูกส้มโอดังกล่าว มักเคลื่อนไปด้านบนและออกข้างไปทางรักแร้ ได้สูงกว่าการเสริมใต้กล้ามเนื้อนั่นเอง

(1.3) การเสริมหน้าอกด้วยถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือผิวเรียบแทนการใช้ผิวขรุขระหรือผิวทราย ปัจจัยนี้ดูเหมือนจะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว ซึ่งแล้วแต่ความเชื่อของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด

2. เกิดจากการดูแลของผู้ป่วย สิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยหลักเช่นเดียวกัน หากแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดฝีมือดี แต่ ผู้ ป่วยไม่ยอมนวดหน้าอกหรือนวดบริเวณถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ ก็ไม่มีประโยชน์และย่อมทำให้เกิดผลแทรกซ้อนนี้ในระยะหลังแน่นอน ผมคงไม่กล่าวลงรายละเอียดถึงวิธีนวด แต่โดยทั่วๆไป รูปทรงหน้าอกจะเข้ารูปเต็มที่ หลังผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน ดังนั้นใน 3 เดือนแรกหลังผ่าตัดจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งผมจะให้ผู้ป่วยนวดวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า,กลางวัน,เย็น หรือก่อนนอน ครั้งละ 15 นาที ภายหลัง 3 เดือนไปแล้วจนถึง 1 ปี นวดวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น หรือก่อนนอน ครั้งละ 15 นาที เช่นเดียวกัน และภายหลัง 1 ปีไปแล้ว ให้นวดทุกวันวันละครั้ง ส่วนใหญ่มักให้นวดก่อนนอน ครั้งละ 15 นาที สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อนผ่าตัดเสมอ ถ้าผู้ป่วยยอมรับจึงจะทำการผ่าตัดให้

สุดท้ายนี้ มักมีคำถามเสมอ สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมหน้าอกว่า มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นหรือไม่ หรือหลังการผ่าตัดเสริมหน้าอกสามารถให้นมลูกได้หรือไม่ คำตอบ คือ มีงานวิจัยหลายงานสรุปเป็นคำตอบเดียวกัน ไม่ว่าเสริมหน้าอกด้วยถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือโดยใช้วิธีการผ่าตัดเสริมใต้ผิวหนังหรือใต้กล้ามเนื้อ ก็ไม่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ แม้ถุงซิลิโคนที่ใช้เสริมหน้าอกจะรั่วก็ตาม รวมทั้งยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติอีกด้วย

สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมหน้าอก ก็ควรศึกษาหาข้อมูลดี ๆ ก่อนตัดสินใจทำการผ่าตัดไม่ใช่เลือกเพียงราคาถูกเท่านั้น ผมขอให้ทุกท่านโชคดีในการผ่าตัดเสริมหน้าอก น่ะครับ

นพ. อภิชาญ พงศ์พัฒนานุรักษ์

Ruktured
หน้าใหม่
หน้าใหม่
Posts: 2
Joined: Wed Jan 07, 2015 6:35 pm

Re: การเสริมหน้าอก ( Breast augmentation)

Postby Ruktured » Wed Jan 07, 2015 7:00 pm

ชักอยากจะไปทำซะแล้วซิ แต่ขอที่ละอย่างดีกว่า


Return to “บทความจาก คุณหมอ”

Who is online

Users browsing this forum: No registered users and 4 guests