ศาสตร์การแพทย์แผนจีน
การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง ?
การฝังเข็มไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ปักเข็มขยายตัวเท่านั้น แต่หลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายก็จะมีการขยายตัวอย่างเหมาะสมอีกด้วย ทำให้เนื้อเยื่อทั่งร่างกายได้รับสารอาหารและขจัดของเสียที่คั่งค้างได้ดีกว่า การฝังเข็มยังสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นเพื่อปรับการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากจุดฝังเข็มได้อีกด้วย เช่น
– เมื่อปักเข็มกระตุ้นจุด “เน่ยกวาน” บนเส้นลมปราณเยื่อหัวหัวใจที่อยู่บริเวณข้อมือ สามารถปรับการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ สามารถทำให้หลอดเลือดหัวใจขยายตัวได้
-เมื่อปักเข็มกระตุ้นจุด “จู๋ซานหลี่” ของเส้นลมปราณกระเพาะอาการที่อยู่บริเวณหน้าแข็ง สามารถกระตุ้นทำให้กระเพาะอาการที่หดเกร็ง มีการคลายตัวและบีบตัวเป็นจังหวะดีขึ้น สามารถปรับการหลั่งของกรดในผู้ป่วยที่มีภาวะกรดกระเพาะอาการมากเกินไป ให้ลดน้อยลงสู่สภาพปกติได้
ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะไม่สามารถอธิบายกลไกการเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ได้จากความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่แต่เดิม อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ระบบประสาทและการค้นคว้าในด้านการฝังเข็มพบว่า การกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral nerve) ด้วยการฝังเข็ม สามารถก่อให้เกิดสัญญาณประสาทเข้าสู่ก้านสมองและสมอง และมีทางเดินประสาท (pathway) เชื่อมโยงไปยังศูนย์เซลประสาท (neuron center) ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจายอยู่บริเวณก้านสมองและฮัยโปธาลามัส แล้วมีสัญญาณประสาทส่งกลับไปควบคุมการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ โดยผ่านระบบประสาทอัตโนมัติที่ไปยังอวัยวะนั้น ๆ
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ตอนนี้ การฝังเข็มสามารถรักษาโรคโดยอาศัยกลไกสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ปรับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพสมดุลปกติ
2. ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
3. ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
4. ทำให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งมีการคลายตัว
5. กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทั้งบริเวณเฉพาะที่และทั่วร่างกาย
วิธีการ และขั้นตอนแรกฝังเข็ม
ขั้นตอนและวิธีการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม มีดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 วินิจฉัยโรค
เมื่อผู้ป่วยมาหา แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อทำการวินิจฉัยอาการและโรคเสียก่อนว่า ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคอะไร มีอาการเจ็บปวดไม่สบายอะไรบ้าง อาการไหนเป็นอาการหลักที่สำคัญ อันไหนเป็นอาการรอง อาการไหนต้องรักษาก่อน อาการไหนค่อยรักษาทีหลัง มีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้างหรือไม่ มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดแผนการรักษา
เมื่อวินิจฉัยอาการและโรคแล้ว แพทย์ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการรักษาเช่น จะต้องกำหนดเลือกจุดปักเข็มว่าจะใช้จุดอะไรบ้าง ตำแหน่งตรงไหน ใช้กี่จุด จุดไหนเป็นจุดหลักที่จะต้องปักทุกครั้ง จุดไหนเป็นจุดรองที่จะใช้ปักเป็นบางครั้งเหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบันที่จะต้องเขียนใบสั่งยา (prescription) ว่าจะใช้ยากี่ตัว มีอะไรบ้าง รับประทานครั้งละกี่เม็ด วันละกี่เวลา เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 จัดท่าผู้ป่วย
แพทย์จะจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมกับการปักเข็ม เช่น ใช้ท่านอนคว่ำเมื่อจะตั้องปักเข็มบริเวณหลังหรือเอว ใช้ท่านอนหงายเมื่อจะต้องปักเข็มบริเวณใบหน้า หน้าท้อง แขนขา ใช้ท่านั่งในกรณีต้องปักเข็มบริเวณต้นคอหรือท้ายทอย และในบางครั้งอาจต้องใช้ท่าตะแคง เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 ปักเข็ม
แพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดบริเวณผิวหนัง แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ ที่ปราศจากเชื้อ ปักลงไปบนจุดฝังเข็มที่กำนหดเอาไว้ในแผนการรักษา การปักเข็มจะต้องปักผ่านชั้นผิวหนังอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บมากนัก ขณะที่เข็มปักผ่านผิวหนัง ผู้ป่วยอาจจะรุ้สึกเจ็บเล็กน้อยเหมือนถูก “มดกัด” หรือคล้ายกับถูกฉีดยา (แต่จะเจ็บน้อยกว่าฉีดยามาก)
ที่มา : สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย