webmaster
จากการทำเลเซอร์มาหลายๆครั้ง ทำให้ได้รู้สัจธรรมแห่งความงดงามว่า ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน เลเซอร์ก็เช่นเดียวกัน ตอนทำใหม่ๆ ใบหน้าเรียบเนียน สวยใสเหมือนวัยรุ่น ทาครีมอะไร หน้าก็เด้งไปหมด แต่พอหมดฤทธิ์การกระตุ้นคอลลาเจนใต้ชั้นผิวชั่วคราว หน้าก็กลับสู่สภาพเดิม แต่จะหนักกว่าเดิมค่ะ เพราะขณะที่เลเซอร์(พลังงานความร้อนผ่าน)ผิวชั้นนอก(epidermis)ทะลุทะลวงถึงชั้นหนังแท้(dermis) ได้สร้างความเสียหายไว้กับผิวพอสมควร เพราะจะทำให้ผิวหน้าบอบบางเสียยิ่งกว่าผิวทารกเสียอีก ปราการที่คอยปกป้องผิวจะสูญเสียไป(ผิวจึงแห้งกร้าน บางคนลอกเป็นขุย) พอใบหน้าแห้ง สิ่งที่อันตรายมากที่สุดคือ พอใบหน้าถูกแสงแดด หรือโดนความร้อนจากการทำอาหาร ไดร์เป่าผม ฯลฯ ผิวหน้าของเราจะดูดความร้อนมาสะสมไว้ นานวันเข้า กระ ฝ้าจึงมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แป้งสังเกตว่า ทำไมเรามีกระเพิ่มขึ้นกว่าปกติ นึกได้ว่าเพราะเลเซอร์นี่เอง ยังคิดเสียใจอยู่เลย ไม่น่าไปทดลองทำเลเซอร์ราคาถูกเลย ทำกับหมอเก่งๆ อย่าง นพ.รัสส์ภูมิ สุเมธิวิทย์ ก็ดีอยู่แล้ว เพราะแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมากฝีมือ จะประเมินปัญหาหน้าของเรา แล้วจึงใช้ชนิดของเลเซอร์ให้เหมาะกับจุดบกพร่อง และตั้งค่าพลังงานให้เหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหาผิวหน้า แต่ที่คนส่วนใหญ่เจอคือ ทำแล้วไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ก็ด้วยเหตุผลที่แป้งเคยเขียนไว้ในblogที่่ผ่านมา แพทย์ผิวหนังที่จบมาแต่ละปี มีจำนวนแค่ 80คนต่อรุ่น แล้วที่เราทำเลเซอร์กันโครมๆ จบ board ผิวหนังกันรึเปล่าน๊า หรือว่า?? ส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้ทุนให้กับรัฐบาลอยู่ เพราะฉะนั้นปัญหาการขาดแคลนแพทย์จึงเป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่สาขาผิวหนังเท่านั้น สาขาอื่นๆก็เช่นเดียวกัน
จากนี้ แป้งคงไม่ข้องเกี่ยวกับเลเซอร์อีกต่อไป เพราะปัญหาหลุมสิว ได้ถูกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ตัวเองสวยเพียงชั่วคราว(หลอกตัวเอง) แล้วทิ้งปัญหาผิวหน้าให้เรามหาศาลหรอกค่ะ ช่วงนั้นใบหน้าจะบอบบางมากกว่าปกติ เป็นปีนะคะ กว่าจะกลับคืนสมดุล ตอนนี้รู้สึกว่าผิวหนังไม่เหมือนเดิมเท่าไหร่ ปกติผิวหน้าแป้งแข็งแรงมาก แต่ scrub หน้านิดหน่อยก็แสบผิวแล้ว ประกอบกับอายุมากขึ้น ทุกอย่างเสื่อมโทรมไปหมด ไม่ใช่แป้งคนเดียวนะคะ แป้งเคยเห็นหน้าหมอผิวหนังชื่อดังที่มีอายุพอสมควร น่าจะ(เกิน50ปี) เก่งด้วยนะคะ แป้งชอบอ่านหนังสือมากเลยค่ะ อ่านบทความเค้าอยู่บ่อยๆ ปีที่แล้วหน้ายังเรียบสวยอยู่เลย แต่เห็นอีกที อ้าว!ทำไมหน้าดำ ฝ้า กระ เต็มไปหมด กลายเป็นคนละคนเลยค่ะ หากใครมาถามว่า “ทำเลเซอร์ดีมั๊ย” แป้งจะห้ามทันที หากมีผิวหน้าแห้งอยู่แล้ว ไม่สมควรอย่างยิ่ง เก็บเงินไว้ซื้อครีมลดริ้วรอยคุณภาพเยี่ยมดีกว่า วันหลังจะมาแนะนำให้ค่ะ เห็นผลชัดเจน ใครที่มีผิวแห้งจะยิ่งติดใจ แล้วไม่ต้องใช้ครีมหลายตัว ใช้อย่างเดียวก็พอ
เรื่องกระ ฝ้า เป็นปัญหาระดับภูมิภาค แก้ไขยาก แม้กระทั่งเลเซอร์ก็ไม่มีทางทำได้ ส่วนใหญ่ รอยกระ ฝ้า จางลงเพียงชั่วคราว เมลาโนไซต์(กลไกควบคุมเม็ดสี)ทำงานมากผิดปกติ จึงกระตุ้นให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น ตรงข้ามกับผมหงอก ที่เมลาโนไซต์หยุดทำงาน เส้นผมบริเวณนั้นจึงกลายเป็นสีขาว ถึงจะย้อมผมปกปิด แต่เส้นผมที่งอกขึ้นมาใหม่ก็จะมีสีขาวดังเดิม แป้งโชคดีมากที่ผมยังไม่หงอกค่ะ อิอิ
คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อครีมลดฝ้า ซึ่งผสมตัวยา ไฮโดรควิโนน(hydroquinone) ความเข้มข้น2-4% ยิ่งมีความเข้มข้นสูง(ประเทศไทยจัดเป็นยาควบคุม จำหน่ายในโรงพยาบาลหรือคลีนิคผิวหนังเท่านั้น) ประสิทธิภาพที่ทำให้ฝ้าจางลงสูงขึ้น แต่จะมีผลข้างเคียงคือ ระคายเคืองผิว และทำให้ใบหน้าเวลาถูกแสงแดดจะดูดแสง uv มาไว้ที่ใบหน้าของเรา ส่งผลให้หน้าดำกว่าเดิมค่ะ โอ๊ย!น่ากลัวจัง อย่าใช้เลยนะ แป้งว่าลองใช้ azeleic acid(หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) เป็นยารักษาสิว ที่มีฤทธิ์ทำให้สีผิวจางลง โดยชะลอการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง อาจทำให้เกิดการระคายผิว แต่ไม่ทำให้ผิวไวต่อแสงเหมือน tretinoinหรือ hydroquinone นะคะ ระวังครีมแก้ฝ้าราคาถูกที่ไม่ผ่าน อ.ย ผสมสารปรอทแถมมาด้วยทั้งนั้น สวยแป๊บเดียวแต่หน้าพังเป็นปี กว่าจะรักษาให้คืนกลับมาดังเดิม หมดเงินไม่รู้เท่าไหร่
เครดิต : Bloggang.com
ในทางการแพทย์ ชื่อของ ซิลิโคนเหลว เป็นที่รู้จักกันมากว่า 30 ปี และเคยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีราคาไม่แพง ระยะแรกที่ฉีดเข้าไปก็ดูสวยงามดี และมักเป็นที่พอใจของผู้ที่ได้รับการฉีด แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 – 5 ปี สารซิลิโคนเหลวจะค่อย ๆ ไหลมากองรวมกัน ทำให้มีการห้อยย้อย แข็งตึง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผิวหนังบริเวณที่ฉีด หรือถ้าแย่กว่านั้นก็อาจจะเกิดการอักเสบร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ซิลิโคนเหลวมักมีปัญหาการไหลย้อนไปที่ต่าง ๆ และมีปฎิกริยาต่อเซลล์ของร่างกาย ซึ่งปกติการฉีดซิลิโคนเหลวจะมีการฉีดตามที่ต่าง ๆ ในร่างกาย และเกิดผลเสีย ดังนี้…
จมูก – หลังจากฉีดประมาณ 1 ปี ซิลิโคนเหลวจะไหลออกมารวมกันด้านข้างของจมูก ทำให้ดูจมูกบวมใหญ่ และไม่มีสันจมูก
หน้าผาก – หลังจากฉีดจะมีหน้าผากโหนกนูนตามต้องการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ซิลิโคนเหลวมักไหลตกลงมารวมกันบริเวณตาบน
โหนกแก้ม – เมื่อเวลาผ่านไป ซิลิโคนเหลวจะไหลย้อยมาที่กระพุ้งแก้ม ทำให้แก้มห้อยเหมือนคนแก่
คาง – ส่วนนี้เป็นส่วนที่เกิดปัญหาไหลย้อยมากที่สุด เนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้ซิลิโคนเหลวไหลมารวมกันที่ปลายคาง ทำให้คางยาวเหมือนแม่มด และดูไม่เป็นธรรมชาติ
หน้าอก – มักเกิดเป็นก้อนแข็ง ๆ ตะปุ่มตะป่ำ เมื่อคล้ำดูจะรู้ว่าไม่เป็นธรรมชาติ
สะโพก – เมื่อเวลาผ่านไป ซิลิโคนเหลวจะไหลมารวมกันที่ต้นขา ทำให้แข็งเป็นไต ๆ และเกิดการอักเสบบ่อยครั้ง
อวัยวะเพศ – ทั้งเพศหญิงและชาย เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว หากเกิดการเสียดสีบ่อย ๆ จะทำให้เกิดเป็นแผลได้ง่ายกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่ามีผลเสียมากมายจากการใช้สารซิลิโคนเหลว ทางการแพทย์จึงเลิกใช้สารซิลิโคนเหลวเพื่อฉีดเสริมสวย จะมีที่ใช้ก็เฉพาะการรักษาโรคบางอย่าง และต้องทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท่านั้น
ทาง สมาคมแพทย์ผิวหนัง และ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการร้อยไหม ในคลิปที่ชื่อ “ร้อยไหม ไขความจริง” ติดตามชมกันนะคะ
ผลร้ายจากการเสริมความงามโดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญ ปรากฏออกมาให้ได้ทราบกันอยู่เนืองๆ เช่นกรณีล่าสุด พริตตี้สาวไปฉีดฟิลเลอร์เสริมสะโพกแล้วสลบเหมือดยังไม่ได้สติ ก็ปลุกกระแสให้ตื่นกลัวอันตรายจากการเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้ผู้คนเข้าใจให้ถูกเกี่ยวกับการเสริมความงามโดยใช้ฟิลเลอร์ ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยก็นำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องฟิลเลอร์ โดยนายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เล่าปูพื้นก่อนว่าเหตุใดจึงมีการใช้ฟิลเลอร์เพื่อความงาม
“ผิวหนังของคนเรา มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจน ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้รูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเข้าสู่วัยชรา ใยคอลลาเจนจะลดลง ส่งผลให้ผิวหนังบางลง และเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนใยคอลลาเจน โดยเรียกสารเหล่านั้นว่า ฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็ม”
นอกจากนี้ นพ.จินดา ยังบอกด้วยว่า ฟิลเลอร์ ถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย แบบสลายตามธรรมชาติหรือแบบชั่วคราว (Temporary Filler) ฉีดแล้วอยู่ได้นาน 4-6 เดือน จากนั้นจะสลายตัวเองตามธรรมชาติ ไม่สะสมในร่างกาย จัดว่าปลอดภัยมากที่สุด เช่น ไฮยาลูรอนิค แอซิด ส่วนประเภทที่สอง แบบไม่สลายตัวตามธรรมชาติหรือแบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคน พาราฟิน หากฉีดเข้าไปแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป มักก่อให้เกิดปัญหาไหลย้อย ก่อผลข้างเคียงในระยะยาว และแบบสุดท้าย แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) เป็นวิวัฒนาการใหม่ ลูกผสมระหว่างแบบแรกและแบบที่สอง ฉีดแล้วอยู่ได้นานเฉลี่ย 2-3 ปี มีความปลอดภัยปานกลางแต่อย่างไรก็ตาม นพ.จินดา ระบุว่า ในเมืองไทย องค์การอาหารและยา (อย.) รับรองความปลอดภัยให้เพียงฟิลเลอร์แบบชั่วคราวเท่านั้น ทั้งยังจัดให้สารเติมเต็มเป็นยา การนำเข้าต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักยาของ อย. ดังนั้นก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าชนิดที่กำลังจะได้รับนั้น ผ่าน อย.หรือไม่ โดยตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของสำนักยา drug.fda.moph.go.th
ที่สำคัญไม่ใช่ทุกปัญหาริ้วรอยหรือทุกบริเวณที่สามารถฉีดฟิลเลอร์ได้ นพ.จินดา บอกว่า ทางการแพทย์มีข้อชี้บ่งให้ใช้ฟิลเลอร์กับปัญหา 3 ลักษณะ คือ แก้ริ้วรอยผิวเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม แก้ปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น แผลจากหลุมสิวอักเสบซึ่งไม่มีพังผืดใต้แผลนั้น และสุดท้ายใช้ฟิลเลอร์เพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนขึ้นกว่าเดิม เช่น เสริมจมูก คาง ริมฝีปาก หรือฉีดให้รูปทรงของหน้าอวบอิ่ม ขณะที่ริ้วรอยบริเวณคอ ซึ่งมักมีลักษณะเป็นร่องพับ ห้ามฉีดฟิฟิลเลอร์เด็ดขาด เนื่องจากผิวบริเวณนั้นบอบบาง ควบคุมสารที่ฉีดได้ยาก
ด้าน ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในมุมมองของแพทย์ศัลยกรรมว่า การฉีดฟิลเลอร์ได้รับความนิยมเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าทำง่ายเหมือนฉีดยา ไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ความเข้าใจดังกล่าวเห็นได้ชัดจากการฉีดฟิลเลอร์เสริมจมูกแต่การฉีดเสริมจมูกโดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญที่ถูกต้องก็เสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรงที่ตามมา เพราะมีรายงานระบุว่า มีผู้ป่วยตาบอดถาวรจากการฉีดเสริมจมูกมากกว่าการฉีดที่บริเวณอื่น เนื่องจากที่จมูกมีแขนงหลอดเลือดเชื่อมต่อกับระบบหลอดเลือดของประสาทตาและสมองโดยตรง หากฉีดไปถูกเส้นเลือด ฟิลเลอร์ก็จะไหลเข้าเส้นเลือดทำให้ตาบอดได้เพียงเสี้ยววินาที แม้จะเป็นฟิลเลอร์ตัวที่ อย.รับรองก็ตาม
ผศ.นพ.ถนอม บอกด้วยว่า ขณะนี้มีการลักลอบนำเข้าและฉีด “โพลีเอครีน์ลาไมด์” ฟิลเลอร์ต้องห้าม เพราะเป็นสารที่ไม่สลายตัว แต่ประชาชนมักถูกหลอกลวงว่า สลายตัวได้แต่ช้า อยู่ได้นานหลายปี และราคาไม่แพง ด้วยคำลวงเหล่านี้ ผู้ที่หลงเชื่อมักฉีดเสริมใบหน้า หน้าอก หรือสะโพกอย่างกรณีที่เป็นข่าว ซึ่งเมื่อสารนี้รั่วไหลเข้าเส้นเลือดไปอุดปอดหรือสมองก็อาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ในประเด็นของตัวผู้ฉีดให้ก็ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ ซึ่ง นพ.จินดา ย้ำว่า ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจะมีความละเอียดรอบคอบ และพิจารณาถึงขนาดโมเลกุลของฟิลเลอร์ที่จะฉีด ถ้าโมเลกุลเล็กจะฉีดตื้น แต่โมเลกุลใหญ่จะฉีดลึก และจะระมัดระวังไม่ให้โดนเส้นเลือด เนื่องจากถ้าผิดพลาดจะเกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นจุดแดงจ้ำเลือด เกิดรอยนูนมากเกินไป สารเคลื่อนย้อยผิดตำแหน่ง หรือตัวผู้ถูกฉีดอาจเกิดอาการแพ้สารฟิลเลอร์เกิดเป็นก้อนนูนแดงอักเสบ แต่ที่รุนแรงที่สุด คือ ฉีดผิดตำแหน่งแล้วเข้าไปถูกหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน ทำให้หมดสติ และเสียชีวิตลงได้