วันนี้แอดมินขอมาให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผลเป็นนะคะ หลายคนคงสงสัยใช่มั้ยคะ ว่าแผลเป็นเมื่อผ่าตัดแก้ไขแผลเป็นแล้วจะเป็นอย่างไร คุณหมอท่านขออธิบายง่ายๆให้เข้าใจ ไม่ค้องอิงศัพท์วิชาการมากมายคะ ขอแบ่งเป็นช่วงตามระยะเวลาหลังผ่าตัดดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง:เป็นช่วงหลังผ่าตัดไปแล้วภายใน 3 สัปดาห์แรกคะ จะเป็นช่วงที่แผลจะนูนแดง (ทั้งนี้ต้องไม่ใช่การนูนแดง จากการติดเชื้อนะคะ ซึ่งจะแตกต่างกับการหายของแผลตามปกติคะ เอาง่ายๆคะ ไม่ปวด บวม แดง ร้อน หรือมีหนองออกมาคะ) เป็นช่วงที่เป็นกระบวนการหายของแผลตามปกติที่จะมีอาการบวมแดงของแผลในช่วง2-3วันแรกหลังจากนั้นจะค่อยๆยุบลงทั้งความบวมและความแดงของแผลอยู่ เป็นช่วงที่ความแข็งแรงของแผลส่วนใหญ่เกิดจากเทคนิค หรือวิธีการในการเย็บแก้แผลเป็นของคุณหมอเป็นหลัก เพื่อไม่ให้แผลปริหรือแยกออกจากกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการดูแลแผลของคนไข้เป็นสำคัญร่วมด้วยเพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แผลและร่วมกับการขยับบริเวณแผลที่ทำการแก้แผลเป็นให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันแผลปริหรือแยกให้เกิดน้อยที่สุด
ช่วงที่สอง: เป็นช่วงระยะเวลา 3สัปดาห์ ถึง 3 เดือน เป็นช่วงที่ความแข็งแรงของแผลเริ่มมากขึ้นจากกระบวนการหายของแผล แต่แน่นอนว่าย่อมไม่เท่ากับผิวหนังที่ไม่เคยมีแผลเป็นมาก่อน เนื่องจาก การหายของแผลย่อมหายด้วยเนื้อเยื่อผังผืด ซึ่งมีแต่ความแข็ง แต่ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งแตกต่างจากผิวหนังปกติที่มีเส้นใยคอลลาเจน และอิลาสตินในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงทำให้มีทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่นไปพร้อมๆกัน ในช่วงนี้หากการหายของแผลเป็นไปโดยปกติ คือไม่เกิดการยืดขยายจากการเคลื่อนไหวบริเวณนั้นของแผลเป็น หรือเกิดการหายของแผลที่มากกว่าปกติจนเกิดเป็นแผลเป็นนูน ซึ่งมีหลายสาเหตุ ขออนุญาตไม่กล่าวถึงนะคะ ช่วงนี้จากแผลที่นูนแดงก็จะเริ่มยุบลง และเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือสีขาวกว่าผิวปกติ ก็เป็นได้ แล้วแต่ลักษณะผิวเดิมของแต่ละคนคะ แต่ในบ้านเราส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มกว่าสีผิวปกติเป็นส่วนใหญ่คะ แต่ในบางท่านอาจมีผสมทั้งสีเข้มและสีจางกว่าปกติก็มีคะ ช่วงนี้สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องของการเคลื่อนไหว หรือขยับบริเวณรอยแผลผ่าตัดนะคะ ถึงแม้จะมีความแข็งแรงของแผลมากขึ้นแต่เนื่องจากส่วนประกอบส่วนใหญ่ยังเป็นเนื้อเยื่อผังผืด ซึ่งมีแต่ความแข็งแต่ไม่มีความยืดหยุ่น หากเคลื่อนไหวมากก็มีโอกาสเกิดแผลเป็นยืดและหรือบุ๋ม หรือแผลเป็นนูนเกิดขึ้นได้คะ จึงไม่ควรขยับมากในบริเวณแผลผ่าตัดคะ แต่ก็ยังพอเคลื่อนไหวได้ดีกว่าในช่วง 3สัปดาห์แรกนะคะ
ช่วงที่สาม: เป็นช่วงระหว่าง3-6 เดือนหลังผ่าตัด เป็นช่วงรอยต่อจากช่วงที่สองซึ่งกระบวนการหายของแผลจากเนื้อเยื่อผังผืดจะเริ่มลดสัดส่วนลงและถูกแทนที่ด้วยเส้นใยคอลลาเจนและอิลาสตินเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้บางคนอาจเพิ่งเริ่มเห็นแผลเปลี่ยนเป็นสีเข้มหรือสีจางกว่าผิวก็ได้และส่วนที่คลำแล้วนูนในช่วงที่สองอาจเพิ่งเริ่มลดลงและนิ่มก็ได้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วแต่บุคคล แต่สิ่งที่แตกต่างคือความยืดหยุ่นบริเวณแผลเป็นจะมากขึ้นกว่าช่วงที่สองนั้นคือโอกาสการเกิดเป็นแผลเป็นยืดและบุ๋มหรือแผลเป็นนูนจะลดลงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่สอง
ช่วงที่สี่: เป็นช่วงระยะระหว่าง 6เดือน-1ปี เป็นช่วงที่การเติบโตของผังผืดจะโตในอัตราที่ลดลงมากและตรงข้ามกับการเติบโตหรือเข้ามาแทนที่จองเส้นใยคอลลาเจนและอิลาสตินที่เติบโตในอัตราที่สูงขึ้นแทน ช่วงนี้แผลเป็นจะค่อนข้างนิ่ม สีอาจเป็นสีเข้มที่เริ่มจางลง หรือสีอ่อนที่เริ่มเข้มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่เท่ากับสีผิวหนังปกติโดยรอบ ความยืดหยุ่นของผิวบริเวณแผลเป็นดีขึ้น
ช่วงระยะที่ห้า: เป็นช่วงหลัง 1ปี ไปแล้วเป็นระยะสุดท้าย หรือระยะที่แผลเจริญเติบโตเต็มที่ หากไม่มีการทำให้เกิดการอักเสบ หรือเป็นแผลทับลงบนแผลเป็นอีก แผลเป็นนี้ก็จะมีจำนวนเส้นใยผังผืดที่ลดลงเหลืออยู่คงที่ตรงตำแหน่งที่มีการเย็บแผลเลย ซึ่งมีจำนวนน้อยสุดที่ยังคงมีอยู่และรอบๆก็จะเป็นเส้นใยคอลลาเจนและอิลาสตินตามปกติใกล้เคียงกับผิวหนังทั่วไป ซึ่งความแข็งแรงร่วมกับความยืดหยุ่นของแผลในระยะสุดท้ายนี้ ถือว่าดีที่สุดของแผลแล้วแต่ก็ไม่เท่ากับผิวหนังปกติ รวมทั้งสีผิวก็มักจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงแล้วหลังจากนี้ สุดท้ายก็จะทิ้งร่องรอยของรอยแผลเป็นอยู่บ้าง ซึ่งผลสำเร็จของแผลว่าจะสวยหรือไม่จึงขึ้นกับฝีมือของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดเป็นหลัก รองลงมาขึ้นกับตำแหน่ง ขนาด บริเวณนั้นมีการเคลื่อนไหวมากหรือไม่รวมถึงการดูแลแผลขอคนไข้เอง และสุดท้ายซึ่งมีผลอยู่ในสัดส่วนที่น้อยสุดแต่ก็มีผลคือ พันธุกรรม ของคนไข้เองที่จะส่งผลต่อลักษณะการหายของแผลว่าจะเป็นแผลเป็นนูนที่ผิดปกติรวมทั้งแผลเป็นคีลอยด์ได้ง่ายหรือไม่รวมถึงสีผิวหลังแผลหายว่าจะเป็นแบบใดร่วมด้วย
อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ บทความจาก นพ.อภิชาญ พงศ์พัฒนานุรักษ์