ผลร้ายจากการเสริมความงามโดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญ ปรากฏออกมาให้ได้ทราบกันอยู่เนืองๆ เช่นกรณีล่าสุด พริตตี้สาวไปฉีดฟิลเลอร์เสริมสะโพกแล้วสลบเหมือดยังไม่ได้สติ ก็ปลุกกระแสให้ตื่นกลัวอันตรายจากการเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้ผู้คนเข้าใจให้ถูกเกี่ยวกับการเสริมความงามโดยใช้ฟิลเลอร์ ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยก็นำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องฟิลเลอร์ โดยนายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เล่าปูพื้นก่อนว่าเหตุใดจึงมีการใช้ฟิลเลอร์เพื่อความงาม
“ผิวหนังของคนเรา มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจน ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้รูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเข้าสู่วัยชรา ใยคอลลาเจนจะลดลง ส่งผลให้ผิวหนังบางลง และเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนใยคอลลาเจน โดยเรียกสารเหล่านั้นว่า ฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็ม”
นอกจากนี้ นพ.จินดา ยังบอกด้วยว่า ฟิลเลอร์ ถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย แบบสลายตามธรรมชาติหรือแบบชั่วคราว (Temporary Filler) ฉีดแล้วอยู่ได้นาน 4-6 เดือน จากนั้นจะสลายตัวเองตามธรรมชาติ ไม่สะสมในร่างกาย จัดว่าปลอดภัยมากที่สุด เช่น ไฮยาลูรอนิค แอซิด ส่วนประเภทที่สอง แบบไม่สลายตัวตามธรรมชาติหรือแบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคน พาราฟิน หากฉีดเข้าไปแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป มักก่อให้เกิดปัญหาไหลย้อย ก่อผลข้างเคียงในระยะยาว และแบบสุดท้าย แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) เป็นวิวัฒนาการใหม่ ลูกผสมระหว่างแบบแรกและแบบที่สอง ฉีดแล้วอยู่ได้นานเฉลี่ย 2-3 ปี มีความปลอดภัยปานกลางแต่อย่างไรก็ตาม นพ.จินดา ระบุว่า ในเมืองไทย องค์การอาหารและยา (อย.) รับรองความปลอดภัยให้เพียงฟิลเลอร์แบบชั่วคราวเท่านั้น ทั้งยังจัดให้สารเติมเต็มเป็นยา การนำเข้าต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักยาของ อย. ดังนั้นก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าชนิดที่กำลังจะได้รับนั้น ผ่าน อย.หรือไม่ โดยตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของสำนักยา drug.fda.moph.go.th
ที่สำคัญไม่ใช่ทุกปัญหาริ้วรอยหรือทุกบริเวณที่สามารถฉีดฟิลเลอร์ได้ นพ.จินดา บอกว่า ทางการแพทย์มีข้อชี้บ่งให้ใช้ฟิลเลอร์กับปัญหา 3 ลักษณะ คือ แก้ริ้วรอยผิวเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม แก้ปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น แผลจากหลุมสิวอักเสบซึ่งไม่มีพังผืดใต้แผลนั้น และสุดท้ายใช้ฟิลเลอร์เพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนขึ้นกว่าเดิม เช่น เสริมจมูก คาง ริมฝีปาก หรือฉีดให้รูปทรงของหน้าอวบอิ่ม ขณะที่ริ้วรอยบริเวณคอ ซึ่งมักมีลักษณะเป็นร่องพับ ห้ามฉีดฟิฟิลเลอร์เด็ดขาด เนื่องจากผิวบริเวณนั้นบอบบาง ควบคุมสารที่ฉีดได้ยาก
ด้าน ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในมุมมองของแพทย์ศัลยกรรมว่า การฉีดฟิลเลอร์ได้รับความนิยมเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าทำง่ายเหมือนฉีดยา ไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ความเข้าใจดังกล่าวเห็นได้ชัดจากการฉีดฟิลเลอร์เสริมจมูกแต่การฉีดเสริมจมูกโดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญที่ถูกต้องก็เสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรงที่ตามมา เพราะมีรายงานระบุว่า มีผู้ป่วยตาบอดถาวรจากการฉีดเสริมจมูกมากกว่าการฉีดที่บริเวณอื่น เนื่องจากที่จมูกมีแขนงหลอดเลือดเชื่อมต่อกับระบบหลอดเลือดของประสาทตาและสมองโดยตรง หากฉีดไปถูกเส้นเลือด ฟิลเลอร์ก็จะไหลเข้าเส้นเลือดทำให้ตาบอดได้เพียงเสี้ยววินาที แม้จะเป็นฟิลเลอร์ตัวที่ อย.รับรองก็ตาม
ผศ.นพ.ถนอม บอกด้วยว่า ขณะนี้มีการลักลอบนำเข้าและฉีด “โพลีเอครีน์ลาไมด์” ฟิลเลอร์ต้องห้าม เพราะเป็นสารที่ไม่สลายตัว แต่ประชาชนมักถูกหลอกลวงว่า สลายตัวได้แต่ช้า อยู่ได้นานหลายปี และราคาไม่แพง ด้วยคำลวงเหล่านี้ ผู้ที่หลงเชื่อมักฉีดเสริมใบหน้า หน้าอก หรือสะโพกอย่างกรณีที่เป็นข่าว ซึ่งเมื่อสารนี้รั่วไหลเข้าเส้นเลือดไปอุดปอดหรือสมองก็อาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ในประเด็นของตัวผู้ฉีดให้ก็ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ ซึ่ง นพ.จินดา ย้ำว่า ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจะมีความละเอียดรอบคอบ และพิจารณาถึงขนาดโมเลกุลของฟิลเลอร์ที่จะฉีด ถ้าโมเลกุลเล็กจะฉีดตื้น แต่โมเลกุลใหญ่จะฉีดลึก และจะระมัดระวังไม่ให้โดนเส้นเลือด เนื่องจากถ้าผิดพลาดจะเกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นจุดแดงจ้ำเลือด เกิดรอยนูนมากเกินไป สารเคลื่อนย้อยผิดตำแหน่ง หรือตัวผู้ถูกฉีดอาจเกิดอาการแพ้สารฟิลเลอร์เกิดเป็นก้อนนูนแดงอักเสบ แต่ที่รุนแรงที่สุด คือ ฉีดผิดตำแหน่งแล้วเข้าไปถูกหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน ทำให้หมดสติ และเสียชีวิตลงได้